ศาลรัฐธรรมนูญ (ย่อ: ศร.) เป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ คือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ตลอดจนพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีที่ตั้งอยู่ที่ อาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครใกล้กับที่ทำการกองบัญชาการกองทัพไทย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุด พ.ศ. 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้บัญญัติขึ้นตามมาตรา 35 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน
ตั้งแต่มีการออกคำสั่งของคณะรัฐประหารฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังการรัฐประหาร 1 วัน ซึ่งส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญที่มีมาแต่เดิมสิ้นสภาพและศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ก็ได้ขึ้นปฏิบัติการจากกระบวนการคัดสรรตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งการดำเนินการพิจารณาคดีต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ และขยายขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญออกไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงการก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริการและฝ่ายนิติบัญญัติ
ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย จากการจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี โดยในภายหลัง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น กล่าวถึงการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ณ ขณะนั้นเป็นไปเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยคดีโดยวางอยู่บนพื้นฐานนิติรัฐ นิติธรรม
ตัดสินให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหาในกรณีจ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย ซึ่งในภายหลังนายสุขสันต์ ไชยเทศ อดีตผู้อำนวยการพรรคพัฒนาชาติไทย และนายชวการ โตสวัสดิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นพยานปากเอกคดียุบพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สัญญาว่าจะให้เงินพยานพรรคเล็กคนละ 15 ล้านบาทและช่วยเรื่องคดีแลกกับการที่ให้พยานเหล่านี้ให้การว่าไปพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยาเพื่อรับการว่าจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยที่ความจริงแล้วมิได้มีเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในระหว่างการดำเนินคดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้นำพยานเหล่านี้ไปเก็บตัวในเซฟเฮาส์ทางภาคใต้ และสุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องคดีกับพยานพรรคเล็กเหล่านี้ดังที่สัญญาไว้แต่อย่างใด
วินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจัดรายการชิมอาหาร ซึ่งในภายหลังนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้ยอมรับว่าการวินิจฉัยถอด นายสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นผิดพลาด ด้วยการนำข้อกฎหมายมาวางก่อน แล้วค่อยนำข้อเท็จจริงมาพิจารณา
ตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌมาธิปไตย และเพิกถอนสิทธิลงเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี
ยกคำร้อง กรณีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ด้วยมติสี่ต่อสองว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องยื่นคำร้องมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ปรากฏแก่ตนว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นเหตุให้ถูกยุบได้ มว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องมาล่วงระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าวนี้ จึงไม่ชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสืบไป และให้ยกคำร้อง
ยกคำร้อง กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจำนวน 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสืบไป และให้ยกคำร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว.เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 โดยจากกรณีนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวว่า
ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็น เกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อยโดยไม่ฟังเหตุผลและขาดหลักประกันจนทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซร้ จะถือว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่ก็จะกลับกลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศไปอย่างชัดแจ้ง
ซึ่งในตอนท้ายของคำวินิจฉัย ก็มีเป็นการลงมติโดยเสียงข้างมากขององค์คณะตุลาการในการตัดสินเรื่องนี้
อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นจึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการดำเนินการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 และวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมากว่า 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ศาลรัฐธรรมนูญ_(ประเทศไทย)